ห้องสมุดพลังงาน

บทความ

ค้นหาตามคำค้น

อนาคตพลังงานไทยกับการก้าวสู่ AEC ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเป็นผู้เลือก

นับถอยหลังเข้าไปทุกขณะกับการก้าวสู่การค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วยการรวมตัวกันของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ ไทย พม่า สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน จึงนับได้ว่าตลาดแห่งนี้จะเป็นตลาดน้องใหม่ไฟแรงแห่งหนึ่งของโลกที่นักลงทุน ต่างจับจ้องที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะไม่เพียงแค่ตลาดดังกล่าวแต่เป้าหมายต่อไปนักลงทุนเหล่านี้ยังมองไปยังตลาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงไปสู่จีนและอินเดีย นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth) การค้าและการลงทุนจะเสรีอย่างมาก และเมื่อมองย้อนกลับความได้เปรียบของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าสู่ AEC พบว่าไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ดังนั้น เราจึงได้เปรียบในแง่ของการท่องเที่ยวและระบบการขนส่งที่จะเชื่อมโยง (Connectivity) ภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันนั่นเอง และนี่จึงเป็นที่มาการจัดทำร่างยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศอื่นๆ ทั้งพลังงาน อุตสาหกรรมเกษตรกรรมเข้าด้วยกันภายใต้การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่จะเน้นลงทุนระบบราง ท่าเรือ ขนส่งทางอากาศ การบริหารจัดการน้ำที่ขณะนี้ไทยมีการขนส่งที่พึ่งพิงน้ำมันเป็นหลัก เมื่อปรับมาเป็นระบบรางจะทำให้มีการประหยัดพลังงานต่อปีในอนาคตได้ในระดับแสนล้านบาท และยังสามารถขนส่งคนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะต้องเกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาพลังงาน ดังนั้น กระทรวงพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ปัจจุบันจึงได้วางยุทธศาสตร์พลังงานในการเชื่อมเข้ากับระบบการพัฒนาประเทศแล้วยังต้องเชื่อมระบบเข้ากับ AEC อีกด้วย AEC จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยเข้าถึงตลาดใหม่ (ASEAN) ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน (Hub) ภูมิภาค

ระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรองรับการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปี 2553-2558 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation:APAEC) มีโครงการหลักที่สำคัญ 7 สาขา ได้แก่ 1.การเชื่อมโยง ระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Power Grid:APG) 2.การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) 3.เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด 4.พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy:RE) 5.การสงวนรักษาและประสิทธิภาพของพลังงาน (Energy Efficiency and Conservation :EE&C) 6.นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ 7.พลังงาน นิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า ใน 7 โครงการดังกล่าวนับว่าล้วนมีความสำคัญที่จะต้องเร่งเดินหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะไทยยังต้องเสาะแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ และดูเหมือนจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซที่จะป้อนเข้ามาในระบบมากขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน ยังคงต้องมีการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ของการจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาคและส่งเสริมให้มีการขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้า (Electricity Hub) ของภูมิภาค

การเชื่อมโยงพลังงานเข้ากับอาเซียนนั้นจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงด้านพลังงานของไทย เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในประเทศภูมิภาค ASEAN เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศสูงถึง 85% ของความต้องการใช้พลังงานประเทศ มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า 30% ของความต้องการใช้ในประเทศ และยังมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซียอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าของไทยขณะนี้พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึงเกือบ 70% ซึ่งแนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้าก๊าซฯอ่าวไทยจะทยอยหมด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่าแหล่งก๊าซฯก็เริ่มจำกัด และเมื่อเข้าสู่ AEC อาจทำให้พม่าไม่จำเป็นต้องขายก๊าซฯให้เราเพิ่มเติมอีก ดังนั้น ไทยจึงหนีไม่พ้นการนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องขนมาในรูปของเหลวที่เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะมีราคาแพงกว่าก๊าซฯที่ไทยใช้อยู่ถึงเท่าตัว นั่นหมายถึงอนาคตค่าไฟไทยก็จะต้องบวกไปอีกเท่าตัวเช่นกัน

จาก ปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.75 บาทต่อหน่วย ก็จะปรับไปมากกว่า 5 บาทต่อหน่วย

การเชื่อมโยงระบบพลังงานของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายแหล่งและประเภทเชื้อเพลิงพลังงานให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน นำมาซึ่งราคาพลังงานที่มีราคาถูกลงที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและพลังงานที่ต่อเนื่องทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่จะก้าวไปกับการเติบโตที่พร้อมๆ กันได้

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยนั้นก็ยังจะมีโอกาสผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยการใช้ความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรนำมาซึ่งระบบเกษตรกรรมที่เข้มแข็งและมีความหลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งต้นทุนที่ลดลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ทุกประเทศแม้แต่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการก้าวเข้าสู่ AEC ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนกลไกตลาดโลกเพราะการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงานเสรี ตลอดจนการเปิดเสรีการลงทุนภายในภูมิภาค โอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น หากประเทศใดอุดหนุนราคาพลังงานที่ต่ำไว้ย่อมทำให้การไหลบ่าไปใช้เพิ่มจะยิ่งสูงขึ้น นั่นก็จะเป็นภาระของคนในชาตินั้น ตัวอย่างของไทยเอง ก็เช่นกัน ปัจจุบันไทยมีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีโดยยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนส่วนต่างไว้เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้คนใช้น้ำมันต้องถูกรีดเงินมาอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจีในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม แล้วส่วนหนึ่งยังไปอุดหนุนให้เพื่อนบ้านอีกด้วยเพราะมีการลักลอบนำออกไปเพราะราคาประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทยนั่นเอง

ดังนั้น ไทยมีเวลาอีกไม่นานนักในการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในการรองรับการก้าวสู่ AEC เพราะเมื่อถึงเวลานั้นหากเราไม่เลือกที่จะกำหนดอนาคตของเราเอง ระบบการเปิดเสรีจะเป็นตัวกำหนดอนาคตให้กับคนไทยเอง ซึ่งนั่นหมายถึงไทยจะเผชิญความเสี่ยงกับความมั่นคงและราคาพลังงานที่แพงมากยิ่งขึ้น

อย่าให้คนอื่นมากำหนดอนาคตเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะต้องเลือกอนาคตให้กับตัวเอง....

หน้า 6 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่  22 มีนาคม 2556